งานคอนกรีต


คอนกรีตเป็นวัสดุก่อสร้าง ที่มีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น อันได้แก่ มีราคาถูก ไม่ติดไฟ มีความทนทานสูง อายุการใช้งานยาวนาน ค่าบำรุงรักษาต่ำ และสามารถทำผิวให้สวยงามได้

ชนิดคอนกรีต
คอนกรีตที่ใช้งานโครงสร้าง แบ่งออกได้ 5 ประเภทใหญ่ๆคือ

1. คอนกรีตล้วน Plain Concrete เป็นคอนกรีตอย่างเดียวปราศจากวัสดุอื่น เหมาะสมกับโครงสร้างที่รับแรงอัดอย่างเดียว ได้แก่ คอนกรีตที่เป็นแท่งใหญ่ Mass Concrete กำแพงกันดินแบบน้ำหนักถ่วง Gravity Retaining Walls

2. คอนกรีตเสริมเหล็ก Reinforce Concrete เป็นคอนกรีตที่มีเหล็กเสริมเพื่อให้สามารถรับแรงอัดและแรงดึงมากขึ้น นิยมใช้ในการก่อสร้าง เสา คาน พื้น และฐานราก ในปัจจุบัน โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่ นิยมใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก

3. คอนกรีตอัดแรง Prestress Concrete เป็นโครงสร้างคอนกรีตที่ใช้เทคนิคการดึงลวดรับแรงดึงสูง Tendon และถ่ายแรงค้างไว้ในเนื้อคอนกรีต ทำให้โครงสร้างสามารถต้านทานต่อโมเมนต์ดัดและแรงเฉือนได้ คอนกรีตอัดแรงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

3.1. วิธีอัดแรงก่อน Pre-Tension Prestress Concrete ทำโดยดึงลวดรับแรงสูงไว้ก่อนในแบบหล่อ แล้วจึงเทคอนกรีตลงในแบบหล่อ เมื่อคอนกรีตพัฒนากำลังอัดตามที่กำหนดไว้แล้ว จึงตัดลวดออก แรงดึงที่ค้างอยู่ในลวดรับแรงดึงสูง จะถ่ายแรงเข้าสู่คอนกรีต

3.2. วิธีอัดแรงทีหลัง Post Tension Prestress Concrete ทำโดยสอดลวดแรงดึงสูงไว้ในการวางท่อโลหะสังกะสีในแบบหล่อ เทคอนกรีต เมื่อคอนกรีตได้กำลังตามที่กำหนดไว้แล้ว จึงดึงลวดรับแรงดึงสูงที่ปลาย หัว-ท้าย หรือปลายด้านใดด้านหนึ่ง

4. คอนกรีตเบา Lightweight Concrete คือ คอนกรีตที่มีความหนาแน่นหรือหน่วยน้ำหนักน้อยกว่าคอนกรีตที่ใช้กันอยู่ทั่วไป มีค่าประมาณ 400-1900 กก./ลบ.ม. โดยคัดเลือกวัสดุผสมที่มีน้ำหนักเบาพิเศษ หรืออาศัยปฏิกิริยาของผงด่างโลหะกับน้ำ ทำให้เกิดฟองอากาศขนาดเล็กจำนวนมากในเนื้อคอนกรีต คอนกรีตจึงพองตัว และเบาขึ้น คอนกรีตเบานี้ จะช่วยลดน้ำหนักอาคารได้มาก และประหยัดต้นทุนค่าก่อสร้างลงได้บางส่วน

5. คอนกรีตหล่อสำเร็จรูป Precast Concrete เป็นการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปจากโรงงาน แล้วจึงนำมาประกอบติดตั้ง ณ สถานที่ก่อสร้าง เช่น ผนังสำเร็จรูป แผ่นพื้นสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คานสำหรับงานสะพาน หรือทางด่วน เป็นต้น

 


 
 

การผสมคอนกรีต

 
การผสมคอนกรีต เป็นการนำปูนซีเมนต์ หิน ทราย และน้ำ รวมทั้งสารเคมีผสมเพิ่มและวัสดุผสมอื่นๆ มาผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกันในอัตราส่วนที่กำหนดเพื่อให้ได้คอนกรีตที่มีความสม่ำเสมอ และมีคุณสมบัติด้านการทำงานที่พอเหมาะเพื่อนำไปสู่คอนกรีตที่มีคุณภาพดีต่อไป

เนื่องจากประเทศไทย อยู่ในเขตร้อน อากาศร้อนจัดเป็นระยะเวลาหลายๆเดือน ควรหาวิธีลดอุณหภูมิของคอนกรีตลง เช่น ฉีดน้ำลงบนวัสดุผสมเพื่อลดความร้อน สถานที่กองวัสดุผสมมีสิ่งปกคลุม ฉีดน้ำพ่นแบบหล่อและเหล็กเสริม อาจใช้น้ำแข็งผสมลงในคอนกรีตก็ได้ เป็นต้น

การลำเลียงคอนกรีต
หลังจากผสมคอนกรีตแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการลำเลียง Handling คอนกรีตเพื่อเทลงแบบหล่อ ควรคำนึงถึงความประหยัด และปริมาณของคอนกรีตที่จะทำการลำเลียง ขณะลำเลียงพึงระวังอย่างให้เกิดการสูญเสียน้ำ คงคุณสมบัติที่มีสารยึดเกาะที่ดี และอย่าให้เกิดการแยกตัว Segregation
 

การเทคอนกรีต และการทำให้แน่น


การเทคอนกรีต Placing และการทำให้แน่น Compacting เป็นงานที่กระทำควบคู่กันไปตลอดเวลา วัตถุประสงค์หลักของการเทคอนกรีตคือ การป้องกันไม่ให้คอนกรีตเกิดการแยกตัว และทำคอนกรีตให้แน่นอย่างทั่วถึง การเทคอนกรีตและการทำคอนกรีตให้แน่นอย่างถูกวิธี และบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น มีเทคนิคดำนเนิการดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของคอนกรีต โดยใช้เครื่องสั่นคอนกรีต
2. ควรเทคอนกรีตทีละชั้น อย่างสม่ำเสมอ ไม่ลาดเอียง และไม่ควรเทสุมเป็นกอง
3. ความหนาของการเทแต่ละชั้น ควรพอเหมาะกับกำลังของเครื่องสั่นคอนกรีต เพื่อให้สามารถไล่ฟองอากาศออกจากส่วนล่างของแต่ละชั้น
4. งานเทคอนกรีต สำหรับผนัง ควรเทให้หนาเป็นชั้นความหนา ชั้นละประมาณ 30-45 ซม. ควรเริ่มเทคอนกรีตจากมุม หรือจุดท้ายสุดของแบบผนัง
5. อัตราการเทคอนกรีต การสั่นคอนกรีต ควรมีความสมดุลกัน
6. ควรทำาการสั่นคอนกรีตให้แน่อนเสียก่อนในแต่ละชั้น ก่อนที่จะเทคอนกรีตในชั้นถัดไป
7. โครงสร้างในแนวดิ่ง เช่น เสา หรือ ผนัง ไม่ควรเทคอนกรีตเร็วกว่า ความสูง 2 เมตรต่อชั่วโมง และควรเทอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรอยต่อขณะเทคอนกรีต Cold Join
8. หลีกเลี่ยงการเทคอนกรีตกระทบกับแบบหล่อหรือเหล็กเสริมโดยตรง กรณีโครงสร้างที่มีความสูง เช่น เสา ผนัง คานลึก ปล่องลิฟท์ ควรใช้ท่อเทคอนกรีต Tremie or Pipe เพื่อป้องกันการแยกตัว
9. โดยทั่วไป ควรเทคอนกรีตลงในแนวดิ่ง แต่สำหรับการเทคอนกรีตในแนวนอนหรือแนวลาดเอียง ต้องเทคอนกรีตจากจุดต่ำสุด และให้คอนกรีตดันตัวขึ้นมาตามแบบหล่อ ควรเทคอนกรีตอย่างต่อเนื่องกัน
10. ไมควรให้ระยะตกอิสระของคอนกรีตสูงกว่า 1.5ม.
11. หากต้องการหล่อคอนกรีต เสา ผนัง คาน และพื้นพร้อมกัน ทำได้โดยเทคอนกรีตส่วนเสาและผนังก่อน ทิ้งไว้ประมาณ 2 ชม. แล้วจึงเทคอนกรีตในส่วนของคานและพื้นต่อไปได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อเสาและผนังที่ยังไม่แข็งตัวดี


 เทคอนกรีตถูกวิธี
 

ตัวอย่างภาพการเทคอนกรีต กรรมวิธีแตกต่างกัน และการเท ห่างกัน 3 ชั่วโมง
เพราะการเทคอนกรีตเป็นส่วนสำคัญของการก่อสร้าง จึงควรให้ความสำคัญกับการเทอย่างละเอียด ไม่ว่าจะในเรื่องของ กรรมวิธีการเท ระยะห่างระหว่างการเทของคอนกรีตแต่ละล๊อต ควรหลีกเลี่ยงการเกิดช่องว่างเวลาระหว่างการเท
cold joint

cold joint
 
การเทคอนกรีตลงในแบบหล่อที่มีความสูง โดยให้คอนกรีตไหลลงมาพักยังกระเปาะ แล้วจึงล้นลงไปในแบบหล่อเอง ไม่ให้เกิดการกระแทก ซึ่งจะทำให้คอนกรีตเกิดการแยกตัว ดังภาพ





การบ่มคอนกรีต


การบ่มคอนกรีต Curing หมายถึง การควบคุมและป้องกันมิให้น้ำส่วนที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาระเหยออก เพื่อช่วยให้ปฏิกิริยาไฮเดรชั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการพัฒนากำลังอัดของคอนกรีตเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ทำให้คอนกรีตมีคุณสมบัติทนทาน ทึบน้ำ ไม่สึกกร่อน และช่วยลดการหดตัว

ระยะเวลาในการบ่ม หากทำการบ่มชื้น คอนกรีตที่ใช้ปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ประเภทที่ 1 อย่างต่อเนื่อง 7 วัน กำลังอัดที่ได้เมื่ออายุ 28 วัน เท่ากับการบ่มชื้นต่อเนื่อง 28 วัน ดังนั้นจึงควรทำการบ่มคอนกรีสำหรับคอนกรีตที่ใช้ปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ประเภทที่ 1 เป็นเวลา 7 วัน สำหรับคอนกรีตที่ใช้ปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ประเภทที่ 3 ควรบ่มอย่างน้อย 3 วัน พึงตระหนักว่าการปล่อยปะละเลยไม่เอาใจใส่ต่อการบ่ม ส่งผลเสียต่อกำลังอัดคอนกรีตอย่างมาก ต้องป้องกันอย่าให้คอนกรีตได้รับความสะเทือน และเมื่อพ้นระยะเวลา 24 ชั่วโมงหรือเมื่อคอนกรีตแข็งตัวแล้วต้องทำการบ่มทันที

วิธีการบ่ม การบ่มในสภาพอุณหภูมิปกติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ การเพิ่มความชื้นและวิธีป้องกันการสูญเสียความชื้น

1. การเพิ่มความชื้น เป็นการเพิ่มความชื้นต่อหน้าผิวของคอนกรีตโดยตรง หลังจากคอนกรีตแข็งตัวแล้ว โดยการขังน้ำ ฉีดน้ำ พรมน้ำ และใช้วัสดุเปียกชื้นคลุม วิธีการนี้เป็นวิธีการบ่มที่ดี และ ช่วยลดอุณหภูมิที่ผิวคอนกรีต


วิธีการบ่ม ข้อได้เปรียบ ข้อเสียเปรียบ
1. การขังน้ำ
เหมาะสมกับงานคอนกรีตที่มีพื้นที่ราบ เช่น แผ่นพื้นทั่วไป ดาดฟ้า พื้นสะพาน ถนนทางเท้า สนามบิน
วิธีการ ทำได้โดยใช้ดินเหนียวหรือก่ออิฐทำเป็นคันโดยรอบของงานคอนกรีตที่จะบ่ม และควรระวังอย่าให้น้ำที่ใช้บ่มมีอุณหภูมิต่ำกว่าคอนกรีตเกิน 10 องศา
1. ทำได้สะดวก ง่าย ราคาถูก
2. วัสดุหาได้ง่าย เช่น ดินเหนียว และน้ำ
3. ใช้คนงานระดับกรรมกรทำได้
4. ซ่อมแซมได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น ทำคันดินเหนียว และพังก็สามารถซ่อมได้ทันที
1. ต้องหมั่นตรวจดูรอยแตกร้าว ของดินเหนียวที่นำมาใช้อยู่เสมอ มิให้น้ำซึมหนี
2. ต้องทำความสะอาดบริเวณคอนกรีตที่บ่ม เมื่องานบ่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว
2. การฉีดน้ำหรือพรมน้ำ
วิธีการนี้ใช้ได้ทั้งแนวราบ และแนวดิ่ง เช่น ผนังกำแพง พื้น
1. ทำได้สะดวก ได้ผลดี
2. ค่าใช้จ่ายถูก
3. ใช้คนงานระดับกรรมกรได้
4. ไม่ต้องดูแลตลอดเวลา
1. ไม่เหมาะสมกับสถานที่ที่หาน้ำได้ยาก
2. ไม่สะดวกกับการฉีดกับกำแพงในแนวดิ่ง เพราะน้ำจะแห้งเร็ว
3. การใช้วัสดุเปียกชื้นคลุม
เช่น ผ้าใบ กระสอบ หรือวัสดุอื่นที่อุ้มน้ำได้ดี ถ้าเป็นผ้าใบ ควรใช้สีขาว เพราะสะท้อนความร้อนได้ดี และรอยต่อต้องเหลื่อมกันให้มาก ถ้าใช้ฟางหรือขี้เลื่อย ควรคลุมให้ทั่ว หนามากกว่า 15 ซม. และฉีดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ
1. ได้ผลดีมาก คุ้มต่อการลงทุน
2. ทำได้ทั้งแนวราบ และแนวดิ่ง
3. ใช้คนงานระดับกรรมกรทำได้
4. สามารถหาวัสดุมาใช้ได้ง่าย
1. ถ้าอากาศร้อน จะแห้งเร็ว
2. ถ้าพื้นที่กว้าง การใช้ผ้าใบคลุม จะเปลืองค่าใช้จ่าย
3. ต้องฉีดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ
4. ต้องพิจารณาก่อนที่จะนำวัสดุใดมาใช้ ว่าวัสดุนั้นเป็นอันตรายต่อซีเมนต์ หรือหน้าผิวคอนกรีตหรือไม่


2. วิธีป้องกันการเสียน้ำจากเนื้อคอนกรีต วิธีการนี้ป้องกันความชื้นจากผิวคอนกรีตมีให้ระเหยออกสู่ภายนอก การบ่มด้วยวิธีนี้ทำใด้หลายวิธี

วิธีการบ่ม ข้อได้เปรียบ ข้อเสียเปรียบ
1. การใช้กระดาษกันน้ำซึมคลุม
กระดาษนี้ ทำด้วยกระดาษเหนียว ยึดติดกันด้วยกาว ประเภทยางมะตอยและเสริมความเหนียวด้วยใยแก้ว และมีคุณสมบัติยืดหดตัวไม่มาก วิธีการ ใช้รอยต่อควรเหลื่อมกันให้มากพอสมควร และผนึกรอยต่อติดแน่นด้วยกาวหรือเทป หรือทรายก็ได้
1. ทำได้สะดวกรวดเร็ว
2. ป้องกันคอนกรีตไม่ให้แห้งได้เร็ว แต่ต้องคอยราดน้ำไว้ด้วย
3. ใช้คนงานระดับกรรมกรได้
1. ราคาแพง
2. ไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน
3. ไม่สะดวกในการเก็บรักษาต่อไป เมื่อนำมาใช้งานต่อ
2. ใช้แผ่นพลาสติกคลุม
เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา และสามารถใช้คลุมงานคอนกรีตที่จะบ่มได้ทันทีที่ต้องการ
1. มีน้ำหนักเบา ปฏิบัติงานง่าย
2. ได้ผลดีจากการป้องกันน้ำระเหยออกไปจากคอนกรีต
3. ไม่ต้องราดน้ำให้ชุ่มอยู่ภายใน
1. บางมาก ชำรุดง่าย
2. ต้องหาของหนักทับเพื่อกันปลิว
3. ราคาแพง ถ้าใช้ในการคลุมงานคอนกรีตที่กว้างมาก
3. การบ่มด้วยน้ำยาเคมีเคลือบผิวคอนกรีต
มีหลายสีด้วยกัน เช่น ใสขาว เทาอ่อน และดำ สำหรับสีขาวจะเหมาะกว่า เพราะสะท้อนความร้อนและแสงได้ดีกว่า โดยการใช้พ่นคลุมพื้นผิวคอนกรีตที่ต้องการใช้งานเร็วๆ เช่น ลานบิน หลังคากว้างมาก งานพิเศษ หรือตึกสูง ที่นำส่งขึ้นไปได้ลำบาก
1. สะดวกรวดเร็ว
2. ได้ผลดีพอสมควร ถ้าน้ำยานั้นเป็นของแท้ และมีความเข้มข้น ตามมาตรฐานของผู้ผลิต
3. ไม่ต้องคอยรดน้ำ
4. ไว้ใช้ในกรณีที่มีการบ่มด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
1. ค่าใช้จ่ายสูง
2. ต้องจัดเตรียมเครื่องมือสำหรับการพ่นทุกครั้ง
3. ต้องใช้บุคลากรที่เคยทำการพ่นมาก่อน
4. น้ำยาเคมีที่ใช้ อาจทำอันตรายแก่ผู้อยู่ในระยะใกล้เคียงได้
4. การบ่มโดยใช้ไม้หล่อ ต้องพ่นน้ำให้ไม้มีความชื้นอยู่เสมอ ไม้แบบจะป้องกันการเสียความชื้นได้ดีมาก ฉะนั้นควรรักษาไม้แบบไว้ให้นานที่สุด หลังจากถอดแบบแล้ว จึงใช้วิธีอื่นต่อไป 1. ทำได้สะดวก
2. ใช้คนงานระดับกรรมกรทำได้
1. ต้องใช้ไม้แบบจำนวนมาก
2. ช้า เพราะต้องรอไม้แบบไปใช้งานอื่นต่อไป
3. ถ้าเป็นไม้แบบเก่า ต้องเสียเวลาทำความสะอาด
 

การเทลีน

เทลีน คือ การเทคอนกรีตเพื่อปรับผิวหน้าดิน สำหรับเตรียมพื้นที่ไว้เพื่อรองรับการผูกเหล็กและการเทคอนกรีตในงานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยหลังจากที่ขุดหลุมหรือปรับระดับดินเรียบร้อยแล้ว จะใช้คอนกรีตหยาบผสมในอัตราส่วนประมาณ 1:3:5 เทลงไปบนพื้นดินหนาประมาณ 5-10 ซม. เพื่อปรับหน้าดินให้เรียบ

การเทลีน เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ แต่การเทลีนนั้น จะช่วยให้การผูกเหล็กเพื่อทำโครงสร้างมีระดับติดกับพื้นดินได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเหล็กเสริมควรจะมีคอนกรีตหุ้มอยู่ไม่น้อยกว่า 5 ซม. เพื่อความแข็งแรงของโครงสร้าง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสนิม ผิวหน้าที่เรียบหลังจาเทลีนแล้ว เมื่อวางเหล็กเสริมลงไปจะสามารถหนุนลูกปูนหรือช่วยรักษาระดับของเหล็กได้ง่ายขึ้น โดยที่เหล็กเสริมจะไม่เสียรูป ไม่จมดิน หรือเปลี่ยนตำแหน่ง เมื่อถูกคอนกรีตเททับ และจะทำให้คอนกรีตสามารถไหลหุ้มเหล็กจนมิดได้ รวมทั้งยังช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดจากดิน เช่น ดินไหล ดินเป็นโพรง ความสกปรกจากดินโคลนหรือน้ำใต้ดิน ที่จะส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างอีกด้วย



ข้อมูลอ้างอิง SCGExperience